พลายศักดิ์สุรินทร์ จะเดินทางกลับสู่บ้านเกิด หลังจากใช้ชีวิตตกยากที่ศรีลังกานานกว่า 21 ปี แม้จะไปในนามทูตสันถวไมตรี แต่ด้วยการเลี้ยงดูที่ค่อนข้างแย่ ทำให้รัฐบาลไทยทวงคืน ขณะนี้ยังเหลือพลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ ที่ยังอยู่ศรีลังกา

พลายศักดิ์สุรินทร์ 1 ใน 3 ทูตช้างไทย กลับ 1 ก.ค. นี้

พลายศักดิ์สุรินทร์ (Muthu Raja) เป็น 1 ในช้าง 3 เชือก ที่รัฐบาลไทยมอบให้รัฐบาลศรีลังกา ตั้งแต่ปี 2544 โดยรัฐบาลศรีลังกา ได้มอบต่อให้แก่วัด Kande Vihara เป็นผู้ดูแล เพื่อเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุประจำปีของศรีลังกา

ต่อมาในเดือนพ.ค.2565 กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า องค์การ Rally for Animal Rights & Environment (RARE) ซึ่งเป็นองค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้แรงงานพลายศักดิ์สุรินทร์ที่ค่อนข้างหนัก และไม่ได้รับการดูแลที่ดี และควรได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน

กระทรวงการต่างประเทศจึงได้หารือเรื่องข้างต้นกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นการเร่งด่วน และได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ เข้าตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่พลายศักดิ์สุรินทร์มีสุขภาพและสภาพความเป็นอยู่ไม่ดี จึงได้ร่วมกับคณะสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญไทย จากกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

เดินทางไปตรวจสุขภาพและความเป็นอยู่ของพลายศักดิ์สุรินทร์อีกครั้ง ซึ่งคณะสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ควรให้หยุดการทำงานและส่งตัวกลับมารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.2565 ถูกนำตัวไปรักษาและฟื้นฟูสุขภาพเบื้องต้นที่สวนสัตว์ Dehiwala โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญไทยและศรีลังกาให้การดูแล

ยืนยันช้างไทยกลับบ้าน

อย่างไรก็ดี การนำพพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาที่ประเทศไทยต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายศรีลังกา รวมทั้งต้องดำเนินการตามกระบวนการขออนุญาตนำเข้า/ส่งออกสัตว์ป่า (ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ – The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) อย่างครบถ้วน

ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ กำลังหารือกับกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา วัด Kande Vihara และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาตให้นำกลับมารักษาที่ประเทศไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังคงติดตามและเร่งรัดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ได้รับการยืนยันจาก น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ว่าจะเดินทางไปด้วยตัวเองเพื่อรับพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทยในวันที่ 1 ก.ค. 2566 และจะส่งตัวไปรักษาและดูแลชีวิตบั้นปลายที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ช้างไทยเชือกแรกที่ถูกส่งไปให้ศรีลังกา ชื่อ “พลายประตูผา” เมื่อปี 2523 ในเอกสารของศรีลังการะบุว่า ขอเพื่อนำไปเป็นช้างแห่พระเขี้ยวแก้ว แต่เมื่อไปถึงกลับเป็นช้างอยู่ท้ายขบวน ปัจจุบันยังมีชีวิตและถูกเลี้ยงไว้ในวัดของศรีลังกา ความเป็นอยู่ดีกว่า

ส่วนอีกเชือกชื่อ พลายศรีณรงค์ ถูกส่งไปศรีลังกาพร้อมกันเพื่อใช้งานในขบวนแห่เช่นกัน แต่ก็ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการขอ แต่สวัสดิภาพสัตว์การเลี้ยงดีกว่า

ไทม์ไลน์พลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทย

หากเป็นไปตามไทม์ไลน์  พลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างไทยที่พลัดพรากจากไทยไปนานถึง 21 ปีจะกลับแผ่นดินเกิดในวันที่ 1 ก.ค.นี้ แต่เบื้องหลังกว่าช้างจาก จ.สุรินทร์ เชือกนี้จะได้กลับมาใช้ชีวิตในบั้นปลาย ต้องใช้เวลาเกือบครึ่งปี ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการทวงคืนช้างไทยในศรีลังกา

น.ส.กัญจนา บอกว่า ปฐมเหตุที่ได้รับรู้เรื่องราวของพลายศักดิ์สุรินทร์ หรือชื่อที่ศรีลังกาเรียกว่า “มุทุราชา” เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค.2565 ผ่านการบอกเล่าของ น.สพ.สิทธิเดช มหาวังสากุล จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้ติดต่อผ่านมาทางเลขาฯ ว่าอยากให้ช่วยพากลับมารักษาในไทย เพราะมีแผลฝีใหญ่มาก อีกทั้งสภาพที่อยู่ค่อนข้างแย่ ช้างไม่ได้รับการดูแลอย่างดี จนมีสภาพผอมโซ จากนั้นหมอได้ส่งภาพมาให้ดู

ภาพที่เห็นรู้สึกเวทนามากทั้งที่เป็นช้างที่สง่างาม มีงายาวโค้งสวยงามแต่สภาพร่างกายทรุดโทรมเพราะถูกใช้งานหนักมาก คนที่ดูแลในวัดแห่งนี้ไม่มีความรู้ในการดูแลช้าง เป็นเพียงคนขับรถ

พลายศักดิ์สุรินทร์

จุดเริ่มต้นของการพาช้างไทยกลับบ้าน

น.ส.กัญจนา บอกว่า เมื่อเห็นภาพแล้วรู้เพียงว่าอยากช่วยเหลือช้างเชือกนี้ให้มีสภาพที่ดีขึ้น พ้นจากความเจ็บป่วย จึงหารือกับน้องชาย วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีส่วนดูแลเรื่องช้างและดูแลโรงพยาบาลช้าง อยากให้ช่วย

ประกอบกับ ทูตพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา หนึ่งในเบื้องหลังสำคัญและเป็นคนแรกๆ ที่ประสานให้ทีมสัตวแพทย์ไทย เดินทางไปดูแลสุขภาพของพพลายศักดิ์สุรินทร์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการพาช้างไทยเชือกนี้กลับบ้าน

สิ่งแรกคือเดินเรื่องในการช่วยนำพลายศักดิ์สุรินทร์ออกจากวัดในศรีลังกาก่อน เพราะเป็นกรรมสิทธิ์ของวัด แต่โชคดีที่เจ้าอาวาสเมตตาและปล่อยช้างออกจากวัด จึงนำมาอยู่ที่สวนสัตว์ โดยส่งควาญจากไทยที่เคยดูแลช้างเชือกนี้ไปดูแลที่ศรีลังกา

น.ส.กัญจนา บอกว่า ในระหว่างที่ส่งควาญทองสุก มะลิงาม หรือ ควาญพงศ์ ซึ่งเคยเลี้ยงพลายศักดิ์สุรินทร์ จนถึงอายุ 8 ปีก่อนจะเดินทางไปศรีลังกาเมื่อปี 2544 ด้วยเครื่องบิน C-130 ซึ่งการส่งควาญพงศ์ไปเพื่อสร้างความคุ้นชิน เพราะช้างเชือกนี้อยู่ต่างบ้านมานานกว่า 21 ปี และเดิมควาญพงศ์ ตั้งใจ อยู่ช่วงสั้นๆ เพียงแค่ 1 เดือน แต่ก็ได้อยู่ดูแลยาวเกือบ 6 เดือน

การรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์ที่ดีที่สุด

ในส่วนของตัวเองก็เดินเรื่องตลอดว่าจะนำช้างเชือกนี้กลับอย่างไร มีการส่งทีมสัตวแพทย์ไปถึง 2 ครั้ง ในช่วงเดือน ส.ค. และเดือน พ.ย.2565 โดยรอบหลังนำยาไปเต็มที่ เพราะมีแผลฝีที่สะโพกขนาดใหญ่มาก

ทุกคนประเมินและเห็นตรงกันว่า วิธีรักษาดีที่สุดคือต้องพาพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมาไทย เพราะมีความชำนาญ เดิมคาดว่าจะกลับมาภายในช่วงต้นปี 2566 แต่ช้างมีอาการตกมัน จึงเลื่อนการเดินทางและเว้นมาอีก 3 เดือน

น.ส.กัญจนา บอกว่า นับจากเดือน มี.ค. ยังคงติดตามเรื่องมาตลอด และ ทูตพจน์ ก็ทำกระบวนการทางเอกสาร เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่อยู่ในกฎหมายไซเตส การนำเข้าส่งออกจึงค่อนข้างละเอียดอ่อน กระทั่งเอกสารทุกอย่างเรียบร้อย จึงประสานเรื่องการสร้างกรงพิเศษสำหรับขนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์

โดย ทางกรมอุทยานฯ ทำเรื่องของบ ซึ่งต้องขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เซ็นอนุมัติงบกลาง 24.7 ล้านบาทให้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการประสานใช้เครื่องบิน Ilyushin IL-76 จากรัสเซีย ได้เที่ยวบินเร็วสุดคือ 1 ก.ค.นี้

ขณะนี้กรงใส่พลายศักดิ์สุรินทร์ เริ่มต่อแล้ว คาดว่าจะเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ และจะส่งสัตวแพทย์พร้อมควาญพงศ์ กลับไปดูแลจนถึงวันกลับ เพราะช้างยังโดนล่ามโซ่อยู่ เพื่อเตรียมประเมินสุขภาพและปรับให้ช้างคุ้นชิน

น.ส.กัญจนา ยอมรับว่า สำหรับภารกิจพาพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทย แม้จะดูไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายนัก รวมทั้งจะไม่สำเร็จถ้าไม่มีการร่วมมือจากหลายหน่วยงานของรัฐบาลไทย, ทูตพจน์, นายกรัฐมนตรี, วราวุธ, สัตวแพทย์ และ ควาญพงศ์ ในการทำภารกิจนี้

จึงถือว่าพลายเชือกนี้โชคดีกว่าช้างไทยตัวอื่นๆ ที่ถูกส่งไปและไม่มีโอกาสกลับบ้านเกิดอีกเลย จึงไม่อยากเห็นช้างไทยหรือสัตว์ป่าอื่นๆ ถูกส่งไปต่างแดนอีก ซึ่งตามแผนตัวเองจะเดินทางไปรับพลายศักดิ์สุรินทร์ด้วยตัวเอง และจะดูแลในบั้นปลายของพลายในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง

 

สำหรับพลายศักดิ์สุรินทร์หรือถูกเรียกในภาษาศรีลังกาว่า มุทุราชา (Muthu Raja) หรืออีกชื่อที่ควาญเรียกว่า “บิลลี่” เป็นช้างไทยที่รัฐบาลไทย มอบให้เห็นทูตสันถวไมตรีแก่รัฐบาลศรีลังกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 โดยรัฐบาลศรีลังกาได้โอนกรรมสิทธิ์พลายศักดิ์สุรินทร์ ให้แก่วัดคันเดวิหาร เพื่อทำหน้าที่ขนส่งพระบรมสารีริกธาตุ ปัจจุบันคาดว่าอายุประมาณ 30 ปี

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับข่าวสังคม

ที่มาของบทความ

 

ติดตามอ่านข่าวสังคมได้ที่  lochindaalhouse.com

สนับสนุนโดย  ufabet369